ในแง่ผลประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ทะลุแสนล้านไปแล้วเรียบร้อย หรือฐานลูกค้าที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง มีมากกว่า 35 ล้านราย โดยปัจจุบันยักษ์มือถือ "เอไอเอส" มีสถานะเป็นผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งทั้งในแง่รายได้ และฐานลูกค้า เป็นอันดับ 1
ถึงกระนั้น "เอไอเอส" ก็ยอมรับความจริงที่ว่า ภาพลักษณ์ด้านคุณภาพบริการ ซึ่งเคยเป็นจุดขายจุดแข็งตกต่ำลงไปมาก ด้วยข้อจำกัดเรื่องความถี่ที่มีจำกัดจึงไม่สามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งปลายปีที่แล้ว "กสทช." เปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz ภาวะอึดอัดคับข้องใจทำอะไรไม่ได้จึงค่อย ๆ คลี่คลายลง
ไม่น่าแปลกใจที่หลังได้ใบอนุญาต "เอดับบลิวเอ็น" (บริษัทลูกเอไอเอสที่ได้ใบอนุญาต) จะเร่งสปีดขยายเครือข่ายเต็มพิกัด เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพบริการ โดยหวังลึก ๆ ว่าจะกลับมาเป็นผู้นำเรื่องคุณภาพบริการได้อีกครั้ง
การได้ใบอนุญาตใหม่เปรียบได้กับการเปิดฉากไปสู่อนาคตใหม่ (อายุ 15 ปี) สำหรับยักษ์มือถือรายนี้ ขณะที่สัมปทานเดิมซึ่งถือเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่ทำให้มีวันนี้ด้วยฐานลูกค้ามากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศกำลังจะหมดอายุลง
พลันที่ "เอไอเอส 3G" กดปุ่มเปิดบริการ (เฟสแรก) ต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะฟื้นความเชื่อมั่นคืนมาได้สำเร็จ
"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "วิเชียร เมฆตระการ" หัวหน้าคณะผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ดังนี้
- จะฟื้นความเชื่อมั่นคืนกลับมาได้เมื่อไร
กำลังเร่งกันอยู่ แต่เรื่องนี้ผมคงต้องให้ลูกค้าเป็นคนบอก
- เครือข่ายเสร็จครบ
ถ้าคงประมาณสิ้นปี แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้ลูกค้ารอสิ้นปีนะครับ เพราะ 3G เราเปิดบริการเป็นเฟส โดยเฟสแรกเปิดต้นเดือน พ.ค.นี้ ในกรุงเทพฯและอีก 20 จังหวัด
- ลูกค้าจะรู้สึกว้าวเลยไหม
อยู่ที่การสื่อออกไป เราถึงคุยกันว่าจะสื่อแบบไหน แต่ก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด ที่แบ่งเป็นเฟสไม่เปิดทีเดียวเพราะต้องการทำให้ดีที่สุด อย่างช่วงนี้ทดลองบริการ ผมลองใช้เองเปิดซิมมา มี 14 เมสเซจเข้ามาซ้ำกัน ก็ต้องรีบไปดูว่าเพราะอะไร เช็กไปปรากฏว่า เป็นการเซตพารามิเตอร์ผิดพลาด นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องควอลิตี้เพราะไม่เกี่ยวกับเน็ตเวิร์ก แต่ทำให้ลูกค้าบ่นได้ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องดูหมด
ต้น พ.ค.นี้จะเปิดในกรุงเทพฯและอีก 20 จังหวัดก่อน คือเร็วกว่าเงื่อนไขของ กสทช. เพราะ กสทช.กำหนดให้ขยายเครือข่าย 50% ของประชากรภายใน 2 ปีแรก และ 80% ใน 4 ปีแรก แต่เราจะทำให้เสร็จภายใน 1-2 ปี
- เงินลงทุน 7 หมื่นล้าน 3 ปี จะเพิ่มไหม
ถ้าใช้หมดก่อนก็เพิ่ม ผู้ถือหุ้นบอกไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน ขอให้ใช้ให้หมด อุปกรณ์ทยอยมาเรื่อย ๆ เพราะเราแบ่งเป็นโซน มีซัพพลายเออร์ 3 ราย คือแซดทีอี, หัวเว่ย และโนเกียซีเมนส์ ทุกคนต้องโชว์ผลงาน ใครทำเสร็จเร็วก็จะได้เพิ่มเติม
- สมัยจีเอสเอ็ม 2 วัตต์ เป็นผู้นำทุกเรื่อง
เมื่อสถานภาพเปลี่ยน จะสื่อสารกับลูกค้ายังไงเราพยายามรักษาคุณภาพบริการที่ดีที่สุดเหมือนเดิม และทำให้เป็นชอยซ์ของลูกค้ามากขึ้น
- จับต้องยาก
เราถึงต้องพยายามลงเน็ตเวิร์กให้เร็วที่สุด ได้ไลเซนส์มา ธ.ค.ปีที่แล้ว ภายใน 4 เดือนนี้พยายามเปิดให้บริการเร็วที่สุด ลูกค้าจะทยอยเข้ามา ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่ไหน และบริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ต)
- 3G คลื่นเดิมมีลูกค้า 6 ล้าน
ประมาณนั้น แต่ในการทำนัมเบอร์พอร์ตจะได้ประมาณ 4 หมื่นต่อวัน แต่ถ้าต้องการใช้ดาต้าอย่างเดียวก็ซื้อซิมใหม่ได้ ไม่ต้องพอร์ต อย่าลืมว่าเวลาอีเมล์มาจะมาตามอีเมล์แอดเดรส ไม่ใช่โฟนนัมเบอร์
ดังนั้นถ้าจะใช้ดาต้าก็ใช้ซิมใหม่เบอร์ใหม่ได้ ในแง่บริการด้านเสียง เราพยายามคืนคลื่น 900 MHz ที่เอามาทำ 3G ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ก็จะทำให้คุณภาพบริการเสียงดีขึ้นด้วย
- เอไอเอส 3G เป็นอนาคตใหม่
บริการนี้อยู่บนระบบใบอนุญาต ซึ่งมุม กสทช.คงอยากให้ย้ายมา เพราะระบบใบอนุญาตสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ และมีอำนาจในการดูแลตามกฎเกณฑ์ ขณะที่ในระบบเก่า (สัมปทาน) แตะต้องอะไรมากไม่ได้ ดังนั้นระบบใบอนุญาตจึงเป็นการเริ่มศักราชใหม่ หรือที่เรียกว่า Chapter ใหม่ในการแข่งขัน ทุกคนมีต้นทุนไม่ต่างกันจริง เราเองอาจประมูลแพงกว่าคนอื่น แต่เมื่อเทียบกับเงินลงทุนแล้ว ขนาดเล็กกว่าเดิมเยอะ และที่สำคัญเริ่มพร้อมกัน และจบพร้อมกัน 15 ปี
- ต้องลดราคา 15% ตามเงื่อนไขถามว่าการลดราคาลดจากอะไร
เราทำก็ต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นว่าอะไรเป็นหลักการ ซึ่งในเชิงพับลิกก็ต้องทำ เราคิดว่าถ้าเพิ่มปริมาณมากขึ้น เหมือนขายไข่พะโล้เดิมขายจานละ 25 บาท มีไข่ครึ่งฟอง 25 บาท วันนี้ได้ไข่เต็มฟองแต่ราคาเดิม ถือเป็นการลดราคาไหม เราคงต้องมีสองแบบ แบบแรกไม่ลดราคา แต่ใช้ได้มากขึ้น อีกแบบลดให้เห็นเลย
แต่ใช้ได้น้อยลง ปริมาณได้ไม่เท่ากันแน่นอนเพราะจ่ายต่างกัน ผมถึงบอกว่า อะไรคือมาตรฐาน จะเอา 2G มาเทียบ 3G ไม่ได้ ความเร็วไม่เท่ากัน
- พร้อมแค่ไหนสำหรับการเปิดบริการ
ความครอบคลุมคงสู้คู่แข่งบางรายไม่ได้ เพราะเขาทำมา 2 ปี แต่เราเพิ่งได้ไลเซนส์ เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา แค่ 4 เดือนเท่านั้นเอง ก็เร่งกันหูตูบแล้ว แต่สู้เต็มที่ การเงินไม่ใช่ปัญหา แต่จะเร่งให้เร็วได้ยังไงด้วยกำลังคนก็เท่าที่มี เราจะฟื้นความเชื่อมั่นได้ไหม ต้องพยายาม พูดไปก็เป็นแค่การโฆษณาต้องทำให้เห็น มีลูกค้ารออยู่
ผมถึงบอกว่าแคมเปญวันนี้ต้องกลับมาย้อนดูว่า ที่จะทำเต็มที่แน่ใจไหม ไปสร้างความมุ่งหวังไว้สูงเกินไปไหม กับการประคองสถานการณ์ให้เขามาใช้ตามความเหมาะสมดีไหม ที่สำคัญลูกค้าที่ยังอยู่ และอดทนรอใช้จะตอบแทนเขายังไง
- สัมปทานที่กำลังจะหมดจะทำยังไง
เราเสนอทางทีโอทีไปว่าจะขอสละสิทธิในการบริหารการใช้งานเสาโทรคมนาคม คือสินทรัพย์ที่โอนให้ทีโอทีตั้งแต่วันแรกที่สร้างเสร็จ แต่สิทธิในการบริหารเป็นของเรา แต่เราคืนให้ก่อนสัมปทานหมด
ซึ่งการสละสิทธิการบริหาร ผมก็ต้องอธิบายผู้ถือหุ้นว่าทำแล้วได้อะไร เพราะถ้าได้ไม่ดี เขาก็ว่าได้ หลักการคือหนึ่งค่าใช้จ่ายต้องไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแบบนี้ผู้ถือหุ้นโอเค และสองผลประโยชน์ที่อาจจะได้อื่น ๆ เช่น ถ้าเอาไปให้คนอื่นเช่าด้วย เราก็ควรได้รับส่วนแบ่ง ไม่รับเป็นส่วนแบ่งก็เอาไปลดโน่นนี่ได้ไหม เป็นต้น
- แลกกับอะไร
เราต้องการมีไพรออริตี้ในการเช่าใช้ ถ้าเป็นเอไอเอสใช้ขอไม่จ่ายตังค์ค่าเช่า แต่ถ้าเป็นเอดับบลิวเอ็นต้องจ่าย คือเราจะได้เวฟค่าเช่าเสา 3 ปี เพราะคืนสิทธิในการบริหารเสาให้ก่อน สัมปทานยังอยู่จ่ายเหมือนเดิม เมื่อสิ้นสุดสัมปทานก็เป็นค่าเช่า
การตีราคาเช่าเสาคิดไม่ยาก วันนี้ราคาเรามีหมดแล้ว เพราะให้ทีโอทีมาติดตั้ง ซึ่งก็คิดตามราคาต้นทุน แล้วแต่ความสูง
- อินทัชลงทุนทีวีต้องเข้าไปช่วยไหม
ถ้าเป็นเรื่องการรันอินฟราสตรักเจอร์ เราทำให้ได้ เทคนิคไม่ยาก แต่ถ้าทำรายการต้องหาพาร์ตเนอร์ ในภาพใหญ่อินทัชกำลังพยายามสร้างจิ๊กซอว์ให้ชัดเจน
- แต่ถนัดที่สุดด้านสื่อสาร
สิ่งสำคัญคือการบริหารคน ถ้ามีตรงนี้เป็นแกน จุดหลักใหญ่ของธุรกิจคือบริหารเงิน บริหารงาน และคน โนว์ฮาวไม่ใช่
เรื่องยาก ที่ปรึกษามีตั้งเยอะ แต่จะบริหารคนให้ทำงานได้ตามเป้าอย่างไร การทำให้ทีมงานมีใจในการทำงานสำคัญกว่า
ไม่ใช่บอกทำแค่นี้พอแล้ว เพราะบริษัทให้แค่นี้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น